วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บรรษัทภิบาล

สัญญาลักษณ์ธนาคาร
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ตระหนักดีว่าการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อธนาคารเป็นอย่างมาก ธนาคารจึงยึดมั่นถือปฏิบัติสืบเนื่องมาโดยตลอด ธนาคารเชื่อมั่นว่าระบบและกระบวนการในการกำกับดูแลกิจการที่ดี รวมถึงความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร จะนำพาธนาคารไปสู่ความสำเร็จภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันที่รุนแรง และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหุ้น ลูกค้า ผู้ลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกราย รวมถึงเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม เสริมสร้างความมั่นคง และความยั่งยืนของธนาคารอย่างต่อเนื่องในระยะยาว นอกจากนี้ผู้ลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้มากขึ้นเป็นลำดับในการนำปัจจัยทางด้านการกำกับดูแลกิจการของแต่ละบริษัทมาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการตัดสินใจในการลงทุน ทั้งนี้ผู้ลงทุนจะให้มูลค่าหุ้นของบริษัทใดสูงก็ขึ้นอยู่กับการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทนั้นด้วย

ดังนั้น ในการจัดโครงสร้างองค์กรและแนวทางการบริหารงานภายหลังการรวมกิจการของ 3 สถาบันเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ธนาคารจึงได้ให้ความสำคัญในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ในหลักการเบื้องต้นธนาคารได้คำนึงถึงแนวทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
  • ดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส และการปฏิบัติงานของธนาคารเป็นไปอย่างมีมาตรฐานในระดับสากล เป็นไปตามกฎหมาย และกฎเกณฑ์ของหน่วยงานของทางการที่เกี่ยวข้องกำหนดขึ้น
  • กำหนดขอบเขต หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการธนาคาร และคณะกรรมการชุดย่อยอย่างชัดเจนและเหมาะสม
  • กำหนดขอบเขต หน้าที่ ความรับผิดชอบ และการควบคุมภายใน ในแต่ละส่วนงานอย่างเหมาะสม
  • พัฒนาให้ธนาคารมีระบบการกำกับดูแลกิจการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลของธุรกิจธนาคารพาณิชย์

เพื่อให้บรรลุผลในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี ธนาคารจึงได้ดำเนินการกำหนดทิศทาง กรอบกลยุทธ์ และแนวทางการดำเนินการของธนาคาร กล่าวคือ
  • การจัดให้มีกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจอันจะนำไปสู่ความสำเร็จ โดยสามารถวัดผลได้ชัดเจนทั้งในระดับองค์กร ผู้บริหาร และพนักงาน
  • การกำหนดผู้รับผิดชอบ อำนาจการตัดสินใจ รวมทั้งขั้นตอนการอนุมัติที่ชัดเจน ตั้งแต่ระดับคณะกรรมการธนาคาร คณะกรรมการชุดย่อย ฝ่ายจัดการ จนถึงระดับพนักงาน
  • การสร้างกลไกในการดำเนินงานเพื่อให้การประสานกันระหว่างคณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหารระดับสูง รวมถึงคณะกรรมการตรวจสอบ เป็นไปอย่างเหมาะสม
  • การจัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่ดี กำหนดให้มีสายงานตรวจสอบภายในพร้อมทั้งกำหนดขอบเขตการปฏิบัติงานที่เหมาะสม การมีผู้สอบบัญชีภายนอกที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามกฏเกณฑ์ที่ทางการกำหนด มีระบบบริหารความเสี่ยง รวมถึงมีการสอบยันระหว่างสายงานด้านธุรกิจและสายงานด้านการปฏิบัติการ
  • การจัดให้มีการติดตามการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของทางการ และของธนาคารเองอย่างเคร่ง ครัด ในเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกรรมของธนาคารที่เกี่ยวโยงกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และ/หรือ ธุรกิจที่ธนาคารเข้าไปลงทุน ทั้งนี้ ได้เน้นให้มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะชนอย่างโปร่งใสด้วย
  • การเปิดเผยข้อมูลทั้งภายในและภายนอกธนาคารเป็นไปอย่างเพียงพอและตามเวลาที่เหมาะสม
  • การกำหนดผลตอบแทนอย่างสมเหตุสมผลสำหรับพนักงานในทุกระดับเมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานของธนาคาร และอัตราเพิ่มของค่าตอบแทนเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเพิ่มของผลกำไรธนาคารมีความเหมาะสม
  • การส่งเสริมให้พนักงานตระหนักถึงความรับผิดชอบและปฏิบัติตามจรรยาบรรณของพนักงาน ( Code of Conduct) เพื่อนำไปสู่การมีวัฒนธรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดียิ่งขึ้นในธนาคาร

โครงสร้างการจัดการ


การจัดโครงสร้างการจัดการของธนาคารนั้นจะสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของธนาคาร เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติและกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยธนาคารได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการทั้งในระดับกรรมการธนาคารและระดับฝ่ายจัดการ ทั้งนี้ เพื่อให้มีความคล่องตัวทั้งในการกำหนดนโยบาย การปฏิบัติงาน และการติดตามการดำเนินงาน รวมทั้งเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด นอกจากนี้ การแต่งตั้งกรรมการหรือผู้บริหารใดเข้าร่วมในคณะกรรมการแต่ละชุดต้องคำนึงถึงความเหมาะสมทั้งในด้านประสบการณ์ ความสามารถ สายงานที่รับผิดชอบ และความเป็นอิสระด้วย

การดำเนินการของธนาคารเพื่อให้เป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี


การดำเนินการในเรื่องบรรษัทภิบาล หรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีของธนาคาร ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน สรุปเบื้องต้นได้ ดังนี้
  1. ธนาคารจัดให้มีคณะกรรรมการสรรหา กำหนดค่าตอบแทนและบรรษัทภิบาล เพื่อทำหน้าที่ช่วยคณะกรรมการธนาคารในการกำกับดูแลให้มีการดำเนินกิจการของธนาคารและการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะกรรมการชุดย่อย ผู้บริหาร และพนักงานทุกระดับเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  2. ดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่อง ธรรมาภิบาลของสถาบันการเงินโดยเคร่งครัด รวมทั้งมีการจัดตั้ง สายงานบรรษัทภิบาลขึ้น เพื่อรับผิดชอบการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยตรง
  3. เน้นมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้เป็นมาตรฐานสากลโดยจัดแบ่งเป็น 5 หมวด ภายใต้แนวทางและระเบียบปฏิบัติของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมประเด็นหลักๆ กล่าวคือ
    • สิทธิของผู้ถือหุ้น
    • การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน
    • บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย
    • การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส
    • ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ
  4. คณะกรรมการธนาคารได้มีมติแต่งตั้งเลขานุการบริษัท (Company Secretary) เพื่อปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบการดำเนินงานตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงสนับสนุนงานของคณะกรรมการในด้านที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบ กฎหมาย รวมถึงข้อพึงปฏิบัติที่ดี (Best Practice)
  5. สายงานบรรษัทภิบาลของธนาคารมีหน้าที่ในการติดตามดูแลให้ธนาคาร รวมถึงกรรมการธนาคาร ผู้บริหารระดับสูง พนักงานทุกระดับ มีการปฏิบัติงานที่ถูกต้อง เป็นไปตามแนวทางที่กฎหมาย หรือกฎเกณฑ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด และภายใต้กรอบในเรื่อง
    ธรรมาภิบาลของสถาบันการเงิน พร้อมเสนอวิธีปฏิบัติของธนาคารที่ควรเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่ถูกกำหนดเหล่านั้น เช่น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรรมการอิสระ
  6. ธนาคารให้ความสำคัญในเรื่อง Corporate Social Responsibility (CSR) โดยได้ติดตามและเข้าร่วมประชุมกับองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อให้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติที่เป็นสากลและเพื่อนำมาปฏิบัติต่อไป
  7. กำหนดให้มีการทบทวนและปรับปรุงจรรยาบรรณ และจริยธรรมทางธุรกิจ ให้เหมาะสมกับผู้บริหารและพนักงานแต่ละระดับ

ผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทยประจำปี 2553
(Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2010)


จัดขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับผลคะแนนอยู่ในระดับ “ดีเลิศ” (Excellent)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น